วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การสอนโดยใช้สื่อใกล้ตัว



สื่อมีความสำคัญสำหรับการสอนอนุบาลมาก เพราะเด็กยังไม่สามารถรับรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมได้ การใช้สื่อจะช่วยให้เด็กมองเห็นภาพ สร้างเสริมจินตนาการแบบรูปธรรมที่เห็นชัดเจน สื่อมีหลายชนิด แต่สื่อที่มีประสิทธิภาพใกล้ตัวและหาง่าย คือ นิ้วมือของครู และเศษวัสดุเหลือใช้นั่นเอง
สื่อสำหรับเด็กอนุบาลเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กมาก สื่อต้องเป็นรูปธรรม ในที่นี้จะกล่าวถึงสื่อประเภทใกล้ตัว
สื่อที่ติดตัวมากับตัวครู
สื่อที่ติดตัวมากับครูคือนิ้วมือ ครูสามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน ประกอบการเล่น ประกอบการร้องเพลง ได้อย่างสนุกสนาน ขึ้นอยู่กับครูจะนำมาใช้ในรูปแบบใด นิ้วมือสามารถนำมาใช้เป็สื่อประกอบการเรียนการสอนให้เด็กเกิดความสนุกสนาน และเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ให้แก่เด็กได้ดี โดยเฉพาะในด้านภาษาเพราะในการเล่นนิ้วมือส่วนใหญ่ใช้ประกอบกับการพูด คำคล้องจอง ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของการเล่นสมมุติ การเล่านิทาน ฯลฯ
การใช้นิ้วมือเป็นสื่อประกอบการสอนคำคล้องจอง
เช่น การสอนคำคล้องจองโดยใช้นิ้วมือ 2 นิ้ว ทำท่าเดินตามคำคล้องจอง ต่อไปนี้
ปิ๊ดปี้ปิ๊ด ทหารเดินหน้า ก้าวขาทีละนิด
ปิ๊ดปี้ปิ๊ด ทหารเดินตรง ถอยลงทีละนิด





แนวการจัดกิจกรรมเพลงสหรับเด็กปฐมวัย
เพลงจัดเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เช่นเดียวกับการเล่นและเล่านิทาน เนื่องจากเพลงช่วยสร้างเสริมให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินและกล่อมเกลาให้เด็กเป็นคนมีจิตใจอ่อนไหว รักเสียงเพลงและดนตรี ทำให้ผ่อนคลายอารมณ์และรู้สึกมีชีวิตชีวาในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมวัฒนธรรม และมีลักษณะนิสัยที่ดีงาม

ประเภทของเพลงสำหรับเด็กปฐมวัย
เพลงเด็กมีหลายประเภทและหลายลักษณะตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน ทั้งที่มีมาแต่เดิมและมีการแต่งขึ้นใหม่สำหรับร้องเล่นทั่วไป เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
เพลงกล่อมเด็ก เป็นบทร้อยกรองหรือบทกลอนสำหรับกล่อมเด็ก ส่วนใหญ่มีเนื้อหาบรรยายชีวิต และความเป็นอยู่ที่สะท้อนถึงความเอื้ออาทรรักใคร่ผูกพันที่แม่มีต่อลูก ซึ่งจะพบเนื้อหาของเพลงแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น เพลงกล่อมเด็กภาคอีสานว่า "แม่ไปไร่สิหมกไข่มาหา แม่ไปนาสิหาปลามาป้อน" เพลงกล่อมเด็กภาคกลาง "กาเหว่าเอย ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก" เพลงกล่อมเด็กมักแฝงปรัชญาคำสอนไว้อย่างแยบคาย ให้คนได้คิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่ต้องให้ความรัก
เพลงประกอบเด็ก เป็นบทร้องร้อยกรอง / คำคล้องจอง หรือบทปลอบเด็ก สำหรับร้องปลอบเด็กร้องไห้โยเยบ่อยให้เงียบ และเกิดความเพลิดเพลิน ตัวอย่างเช่น "กุ๊กๆ ไก่ เลี้ยงลูกจนใหญ่ ไม่มีนมให้ลูกกิน ลูกร้องเจี๊ยบๆ แม่ก็เรียกไปคุ้ยดิน ทำมาหากิน ตามประสาไก่เอย" เพลงปลอบเด็กนี้ จะต้องไห้เด็กฟังอย่างเดียวหรืออาจทำท่าทางประกอบด้วยก็ได้
เพลงเด็กเล่นเป็นบทร้อยกรอง หรือบทร้องเล่นของเด็กที่เป็นบทกลอนสั้นๆ ทำนองง่าย ให้ได้ร้องเล่นเพื่อความสนุกสนาน หรือร้องล้อเลียนหยอกล้อกันเนื้อความบางส่วนอาจไม่มีความหมาย แต่มุ่งให้จังหวะคล้องจอง และสัมผัสที่ไพเราะเป็นการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์ทางภาษามากขึ้น และฝึกนิสัยในการจำ ตัวอย่าง เช่น "ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน ไข่ตกดิน เก็บกินไม่ได้"
บทร้องประกอบการเล่น เป็นร้องที่เป็นบทเพลงทำนองบทกลอนสั้นๆ ที่ร้องประกอบการละเล่น เพลงส่วนใหญ่ที่ใช้ร้องจะให้จังหวะ ให้ความพร้อมเพรียงในการเล่นเกม เนื้อเพลงบางเพลงยังอธิบายถึงวิธีการเล่นด้วย ตัวอย่างเช่น "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี้ ฉันจะตีก้นเธอ" "โพงพางเอย ปลาเข้าลอด ปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง" การละเล่นนี้ยังมีประโยชน์ในการออกกำลังกาย การเล่นร่วมกันการออกเสียงภาษา การรู้จักช่วยเหลือกัน และเสริมสร้างความรู้สึกสุนทรีย์จากสัมผัสคล้องจองไพเราะด้วย
เพลงเด็กแต่งขึ้นใหม่ เป็นบทเพลงที่ใช้ประกอบการสอนเด็กปฐมวัย เป็นเนื้อเรื่องที่มีความหมาย และสามารถทำท่าทางประกอบร้องได้ เพื่อจูงใจให้เด็กรู้สึกสนุกสนานและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น เพลงดื่มนม เพลงเก็บของเล่น เพลงนิ้วมือจ๋า เพลงแปรงฟัน

การเลือกเพลงสำหรับเด็กปฐมวัย
เพลงของเด็กควรมีเนื้อร้องง่ายๆ สั้นๆ คำซ้ำๆ เสียงไม่สูงหรือต่ำเกินไปทำนองง่าย จังหวะชัดเจนไม่ช้าหรือเร็วเกินไป และควรเลือกให้เหมาะกับพัฒนาการเรียนรู้และความสามารถทางภาษาของเด็ก โดยเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเลือกบทร้องที่เป็นคำคล้องจองง่ายๆ ส่วนเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป เนื้อร้องอาจยาวขึ้นได้

วิธีการแนะนำเพลงให้เด็ก
การปลูกฝังความสนใจในเพลงให้กับเด็ก ควรเริ่มต้นตั้งแต่เล็กโดยผู้ใหญ่ร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงแรกเด็กจะสนใจจังหวะและเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะ และเริ่มจดจำเนื้อร้องในเพลงเมื่อได้ยินเพลงเดิมซ้ำบ่อยๆ ในการแนะนำเพลงให้กับเด็กควรดำเนินการ ดังนี้
นำเสนอเพลงที่มีเนื้อร้องสั้นๆ มีคำซ้ำๆ และมีทำนองง่าย โดยชักชวนให้เด็กฟังเพลงด้วยกันก่อน เด็กชอบฟังเพลงซ้ำๆ เปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกตามความต้องการ เด็กจะร้องตาม ถูกหรือผิดควรให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความมั่นใจ ฝึกให้เด็กรู้จักเคาะจังหวะ เด็กมักมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงจังหวะเพลง อาจให้เด็กปรบมือตามจังหวะ หรือเคาะเครื่องดนตรีโดยไม่คาดหวังความถูกผิด ปล่อยให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ตามวัย


บทเพลงกล่อมเด็ก

วัดโบสถ์


วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี
ลูกเขยตกยาก แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี
ข้าวโพดสาลี ป่านฉะนี้จะโรยรา

นกกระทุง


อ้ายนกกระทุงเอย ทำตูดตุงตุงจะออกไข่
สานพร้อมใบใหญ่ ไว้ได้ไข่นกกระทุง
ด้วยว่าไข่ของมันโต เท่าแตงโมบางละมุง
ไขมันหล่นเสียงดังผลุง อ้ายนกกระทุงก็บินไป

เดือนหงาย


เดือนเอ๋ยเดือนหงาย ดาวกระจายทรงกลด
อุ้มเจ้าขึ้นใส่รถ ว่าจะพาไปชมเดือน
พิศแลดูดาว ดาวก็งามไม่เหมือน
พิศแลดูเดือน เหมือนนวดดูแม่นา

เจ้าทรามสงวน


เจ้าทรามสงวนเอย สงวนเจ้าไว้แต่บนเรือน
แม่มิให้โฉมงามไปตามเพื่อน อยู่บนเรือนเจ้าคนเดียวเอย




บทร้องเล่นของเด็ก

กุ๊ก กุ๊ก ไก่ เลี้ยงลูกมาจนใหญ่ ไม่มีนมให้กิน ลูกร้องเจี๊ยบเจี๊ยบ

แม่ก็เรียกไปคุ้ยดิน ทำมาหากินตามประสาไก่เอย


แมงมุมเอย ขยุ้มหลังคา แมวกินปลา หมากัดกระพุ้งก้น


โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ หมาหางงอ กอดคอโยกเยก


ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน ไข่ตกดิน อดกินไข่ต้ม


ฝนตกจั๊กจั๊ก มือซ้ายถือปลา มือขวาถือผัก พอถึงหน้าวัด วางผักวางปลา


อ้ายเข้อ้ายโขง อยู่ในโพรงไม้สัก ไอ้เข้ฟันหัก กัดคนไม่เข้า


ขี้ตู่กลางนา ขี้ตาตุ๊กแก ขี้มูกยายแก่ ออระแร้ อรชร


ผมเปีย มาเลียใบตอง พระตีกลอง ตะลุ่มตุ้มโม่ง


โพงพางเอย ปลาเข้าลอด ปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง


ซ้กส้าวเอย มะนาวโตงเตง ขุนนางมาเอง ว่าจะเล่นซักส้าว


แต่ช้าแต่ เขาแห่ยายมา พอถึงศาลา เขาก็วางยายลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น